จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556







ชื่อ
พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ
ภาค
ภาคกลาง
จังหวัด
กรุงเทพมหานคร


 ช่วงเวลาประมาณเดือนหกของทุกปี
ความสำคัญ
เป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่แสดงถึงการเริ่มต้นฤดูทำนา ซึ่งจะเป็นแบบอย่างและเสริมสร้างให้เกิดขวัญกำลังใจ รวมทั้งสิริมงคลแก่เกษตรกรไทย
พิธีกรรม  พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญประกอบด้วย ๒ พิธีรวมกัน คือ
๑. พระราชพิธีพืชมงคล เป็นพระราชพิธีทางสงฆ์ กระทำกันในวันแรก ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
๒. พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เป็นพิธีพราหมณ์ กระทำกันในตอนเช้าของวันรุ่งขึ้น ณ มณฑลท้องสนามหลวง ซึ่งจัดตั้งโรงพิธีประดิษฐานเทวรูปสำคัญ เช่น พระอิศวร พระพรหม ระนารายณ์ ฯลฯ
           พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ถือเป็นพระราชพิธีเก่าแก่ที่กระทำต่อเนื่องกันมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยรัตนโกสินทร์ จนถึง พ.ศ.๒๔๗๙ ว่างเว้นไประยะหนึ่งจนถึง พ.ศ.๒๕๐๓ คณะรัฐมนตรีมีมติฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นใหม่อีกครั้ง และทำสืบเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๙ เป็นต้นมา คณะรัฐมนตรีลงมติให้วันพระราชพิธีพืชมงคลแรกนาขวัญเป็นวันเกษตรกรประจำปี
ในสมัยโบราณพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลเป็นพิธีเฉพาะทางพราหมณ์เท่านั้น ต่อมาถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้เพิ่มพิธีทางสงฆ์ด้วย ปัจจุบันยังคงยึดถือตามแบบธรรมเนียมการปฏิบัติโบราณ มีการดัดแปลงบางส่วนเพื่อให้เหมาะสมกับสมัยนิยม เช่น พระราชพิธีพืชมงคลเพื่อทำขวัญพืชพันธุ์ต่าง ๆ ด้วยพิธีทางสงฆ์ จะทำกันที่ท้องสนามหลวง ส่วนพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทำที่ทุ่งส้มป่อยนอกเขตพระนครหรือที่อื่น ๆ บ้าง แต่ในปัจจุบันพระราชพิธีพืชมงคลทำที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญทำที่ท้องสนามหลวง เป็นต้น
เป้าหมายสำคัญของการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เพื่อเป็นการทำขวัญและเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของพืชพันธุ์ธัญญาหาร เนื่องจากข้าวเป็นอาหารหลักของคนไทย และเกษตรกรรมก็เป็นอาชีพหลักของคนไทยมาตั้งแต่สมัยโบราณ ดังนั้นประเพณีไทยหลายอย่างมักเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกร พระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญจึงถือว่าเป็นสิริมงคลแก่พืชผลที่จะเพาะปลูกประจำปี
กำหนดเวลาการประกอบพระราชพิธีพืชมงคลจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ทำกันประมาณเดือนหกของทุกปี เพราะเป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการเริ่มต้นทำนาในประเทศไทย แต่ไม่มีการกำหนดวันที่แน่นอน เนื่องจากต้องพิจารณาฤกษ์ยามที่เหมาะสมในแต่ละปี

 











ชื่อ
ประเพณีการละเล่นผีตาโขน
ภาค
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
จังหวัด
เลย






ช่วงเวลา ช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน ของทุกปี

ความสำคัญ
การละเล่นผีตาโขนมีมานานแล้วแต่ไม่มีหลักฐานปรากฎแน่ชัดว่ามีมาตั้งแต่เมื่อใด แต่ชาวบ้านได้ปฏิบัติและสืบทอดต่อกันมาจากบรรพบุรุษ เป็นประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ประจำจังหวัดเลย แสดงในงาน "บุญหลวง" ซึ่งเป็นการรวมเอาบุญผะเหวดและบุญบั้งไฟเป็นบุญเดียวกัน เพื่อเป็นการบูชาอารักษ์หลักเมือง และพิธีการบวงสรวงดวงวิญญาณอันศักดิ์สิทธิ์ของเจ้าในอดีต

พิธีกรรม
มีการจัดทำพิธี ๒ วัน คือ วันแรก (วันโฮม) ขบวนผีตาโขนจะแห่รอบหมู่บ้านตั้งแต่เช้ามืด เป็นการทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเข้ามาอยู่ที่วัด ในวันที่สองเป็นพิธีการแห่พระเวสสันดรและนางมัทรีเข้าเมือง โดยสมมุติให้วัดเป็นเมือง สำหรับวันที่สองของงานนี้ ชาวบ้านยังได้นำบั้งไฟมาร่วมในขบวนแห่เพื่อเป็นพิธีขอฝนโดยแห่รอบวัด ๓ รอบ ในขณะที่แห่อยู่นั้นเหล่าผีตาโขนทั้งหลายก็จะละเล่นหยอกล้อผู้คนไปเรื่อย ๆ เพื่อทำให้เกิดความสนุกสนาน หลังจากเสร็จพิธีการแห่แล้วบรรดาผู้ละเล่นผีตาโขนจะนำเครื่องเล่นผีตาโขน และอุปกรณ์ที่ใช้ในการประกอบพิธีไปล่องลงแม่น้ำหมัน และในตอนค่ำของวันเดียวกัน จะมีการฟังเทศน์มหาชาติทั้ง ๑๓ กัณฑ์

สาระ
การละเล่นผีตาโขนนับว่าเป็นสิ่งที่แปลกสำหรับผู้พบเห็น มีการนำเอาก้านทางมะพร้าวที่แห้ง นำมาตกแต่งเป็นหน้ากาก โดยการเจาะช่องตา จมูก ปาก และใบหู นำเอาหวดนึ่งข้าว โดยกดดันหวดให้เป็นรอยบุ๋มหงายปากหวดขึ้น เพื่อสวมศีรษะแต่งแต้มสีสันให้น่าดู ส่วนชุดที่สวมใส่ทำมาจากเศษผ้าหลากหลายสีมาเย็บต่อกัน อุปกรณ์ในการละเล่นมี ๒ ชิ้น คือ "หมากกระแหล่ง" มีไว้เพื่อเขย่าทำให้เกิดเสียงดังในเวลาเดิน และ "อาวุธประจำกาย" ผีตาโขนส่วนมากจะใช้ผู้ชายแสดงเนื่องจากต้องกระโดดโลดเต้นไปเรื่อย ๆ จึงไม่เหมาะที่จะใช้ผู้หญิงเป็นตัวแสดง นอกจากเข้าร่วมในงาน "บุญหลวง" ยังได้เข้าร่วมขบวนแห่ในวันเปิดงานกาชาดดอกฝ้ายบานมะขามหวานเมืองเลย โดยขบวนผีตาโขนจะเดินรอบเมืองเพื่อโชว์ให้แขกบ้านแขกเมืองได้เห็น












ชื่อ
ชิงเปรต
ภาค
ภาคใต้
จังหวัด
พัทลุง

ช่วงเวลา วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และ วันแรม ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๐

ความสำคัญ
"ชิงเปรต" เป็นประเพณีของภาคใต้ที่กระทำกันในวันสารท เดือน ๑๐ เป็นประเพณีสำคัญที่จัดขึ้นเพื่อทำบุญอุทิศแก่บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้ว พระยาอนุมานราชธนได้กล่าวไว้ในสารานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานว่า การชิงเปรตที่ปฏิบัติกันในประเพณีสารทเดือน ๑๐ นี้ มีลักษณะคล้ายกับการทิ้งกระจาดของจีน แต่การทิ้งกระจาดของจีนมีเป้าหมายตรงกับการตั้งเปรต-ชิงเปรตเพียงบางส่วนเท่านั้น กล่าวคือการทิ้งกระจาดของจีนเป็นการทิ้งทานให้แก่พวกผีไม่มีญาติ ส่วนการชิงเปรตของไทยเป็นการอุทิศส่วนกุศลไปให้ทั้งผี(เปรต) ที่เป็นญาติพี่น้องของตนเอง และที่ไม่มีญาติด้วย นอกจากนี้วิธีการปฏิบัติในการทิ้งกระจาดและการชิงเปรตก็แตกต่างกันด้วย
ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนได้ยืนยันว่าการชิงเปรตไม่เป็นความอัปมงคลแก่ผู้ชิงเปรตแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามกลับถือว่าเป็นการทำบุญด้วยซ้ำไป เพราะชื่อว่าบุตรหลานของเปรตตนใดชิงได้ เปรตตนนั้นย่อมได้รับส่วนนั้น เพียงแต่ว่าผู้ชิงต้องระมัดระวังในการที่อาหารหรือขนมที่ตั้งเปรตอาจตกหลานลงพื้น ซึ่งจะทำให้เกิดความสกปรกและเป็นอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น

พิธีกรรม
การตั้งเปรต และชิงเปรตจะกระทำกันในวันที่ยกหมรับไปวัด ไม่ว่าจะเป็นวันแรม ๑ ค่ำ หรือ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนสิบ ก็ตาม ผู้ตั้งเปรตจะนำอาหารอีกส่วนหนึ่งไปเพื่อการตั้งเปรตด้วย อาหารที่ใช้ตั้งเปรตนี้ส่วนมากเป็นอาหารที่บรรพบุรุษที่เป็นเปรตชอบอย่างละนิดอย่างละหน่อย ขนมที่ไม่ขาดคือ ขนมลา ขนมพอง ขนมบ้า ขนมเบซำ(ดีซำ) นอกจากขนมดังกล่าวแล้ว ยังมีของแห้งที่ใช้เป็นเสบียงกรังก็จัดฝากไปด้วย เช่น ข้าวสาร หอม กระเทียม พริก เกลือ กะปิ น้ำตาล น้ำปลา กล้วย อ้อย มะพร้าว ด้าย เข็มเย็บผ้า ธูปเทียน นำลงจัดในหมรับ โดยเอาของแห้งรองก้นและอยู่ภายใน ส่วนขนมทั้งหลายอยู่ชั้นนอก ปิดคลุมด้วยผืนลาทำเป็นรูปเจดีย์ยอดแหลม หรือรูปอื่นแล้วแต่การประดิษฐ์ของผู้จัด ส่วนภาชนะที่ใช้ แต่เดิมนิยมใช้กระเชอหรือถาด นำหมรับ
ที่จัดแล้วไปวัด รวมกันตั้งไว้บน "ร้านเปรต" ซึ่งสร้างไว้กลางวัดยกเสาสูง ต่อมาในระยะหลัง ๆ ร้านเปรตทำเป็นศาลา หลังคามุงจากหรือมุงกระเบื้องแล้วแต่ฐานะของวัด บางถิ่นจึงเรียก "หลาเปรต" บนร้านเปรตจะมีสายสิญจน์วงล้อมไว้รอบและต่อยาวไปจนถึงพระสงฆ์ที่นั่งอยู่ในวิหารที่เป็นที่ทำพิธีกรรม โดยสวดบังสุกุลอัฐิหรือกระดาษเขียนชื่อของผู้ตาย ซึ่งบุตรหลายนำมารวมกันในพิธีต่อหน้าพระสงฆ์ บุตรหลานจะกรวดน้ำอุทิศส่วนบุญไปยังเปรตชนที่เป็นบรรพบุรุษ เมื่อเสร็จพิธีแล้ว เก็บสายสิญจน์ ขนมต่าง ๆ จะถูกแบ่งออกส่วนหนึ่ง พร้อมกับของแห้งไว้ถวายพระ อีกส่วนหนึ่งให้เปรตชนที่พอมีกำลังเข้ามาเสพได้ ในขณะเดียวกันผู้ที่มาร่วมทำบุญทั้งหนุ่มสาว เฒ่าแก่ และโดยเฉพาะเด็ก ๆ จะเข้าไปรุมกันแย่งขนมที่ตั้งเปรตด้วยความสนุกสนาน เชื่อกันว่า การแย่งขนมเปรตที่ผ่าการทำพิธีแล้วนี้จะได้กุศลแรง เป็นสิริมงคลแก่ตนเองและครอบครัว และยังเชื่อกันต่อไปว่าขนมเหล่านี้ถ้านำไปหว่านในสวนในนา จะทำให้พืชผลอุดมสมบูรณ์เพิ่มผลผลิตสูง โดยเฉพาะขนมเทียน บางแห่งนำไปติดไว้ตามต้นไม้ผลเพื่อให้มีผลดก หลังจากนั้น ก็มักมีผู้ใจบุญโปรยทาน โดยใช้เหรียญสตางค์โดยไปที่ละมากเหรียญ ตรงไปยังฝูงชน ที่เรียกว่า "หว่านกำพรึก" แย่งกันอย่างนุกสนาน

สาระ
การทำบุญวันสารท เดือน ๑๐ กำหนดทำ ๒ ครั้ง คือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๑๐ และวันแรม ๑๕ ค่ำเดือน ๑๐ โดยเชื่อว่า วันแรม ๑ ค่ำ เป็นวันที่ยมบาลปล่อยให้เปรต หรือเปตชนขึ้นมาเยี่ยมลูกหลาน ๆ ก็จะทำบุญเลี้ยงต้อนรับ เมื่อถึงวันแรม ๑๕ ค่ำ ก็ถือว่าเป็นวันที่ปู่ย่าตายาย ต้องกลับยมโลก ลูกหลานก็ทำบุญเลี้ยงส่งอีกครั้งหนึ่ง
การเตรียมข้าวของ ขนม ในวันทำบุญ เดือน ๑๐
๑. ลา มีความหมายใช้แทนเสื้อผ้า
๒. พอง มีความหมายว่าเป็นเครื่องประดับ
๓. ขนมเบซำ (ขนมเจาะหู) ใช้แทนเงิน หรือสตางค์มีรูในสมัยก่อน
๔. ขนมบ้า มีความหมายว่า เงินเหรียญ
๕. ขนมเทียน ใช้แทนหมอนหนุน
การชิงเปรต เป็นประเพณีที่ชาวพัทลุงถือปฏิบัติกันมาแต่โบราณ เป็นประเพณีสำคัญที่กระทำกันจนทุกวันนี้ ชาวพัทลุงแม้จะไปทำมาหากินในท้องถิ่นอื่น เมื่อถึงเดือน ๑๐ ก็มักจะกลับมาร่วมพิธีกับญาติทางบ้าน นับเป็นการช่วยเสริมการผูกพันระหว่างครอบครัวและญาติพี่น้อง ทั้งยังเป็นการระลึกถึงบุญคุณ และคุณงามความดีของบรรพบุรุษของตน แม้จะล่วงลับไปแล้วก็ตาม